Wednesday, December 2, 2020

Guess, or I devour you


 


 
 
“Guess, or I devour you” — Sphinx
“นักเขียน” มีความสัมพันธ์แบบใดกับ “ประสบการณ์ภายใน” (Inner Experience) ? มิใช่ว่าการเขียนอยู่ห่างไกลจาก “การระเบิดโพล่งโดยพลัน” อย่างลิบลับที่สุดหรอกหรือ...? มิใช่ว่ากรอบมโนทัศน์ต่างๆ ล้วนเป็นกับดัก เป็นตรวนตรึงความคิดความรู้สึกอันหลุดลอยอยู่ในอากาศ ให้หวนกลับสู่เรือนจำแห่งถ้อยคำอีกครั้ง?
เราทราบกันดีว่า มันมีแนวโน้มที่จะมองเห็นถ้อยคำ...เป็นเพียงถ้อยคำ (mere words) เท่านั้น; ในบางนิกายของเซ็น ผู้หวังหยั่งถึงพื้นรากแห่งความเป็นจริง (ของตนและสิ่งต่างๆ) หากอาศัยเพียงคำพูดอธิบาย ความเข้าใจ หรือสติปัญญา มันยิ่งนำพาให้เขาไร้ทางออก ในไม่ช้าเขาผู้นั้นย่อมมาถึงความอับจนทางปัญญาในที่สุด เป็นสภาวะจนตรอก (cul-de-sac) ทางความคิดต่อหน้า “ปมปัญหาสูงสุด” (Absolute Enigma) ... เขาจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบางสิ่งซึ่งเกินพลังสติของเขา บางสิ่งซึ่งไร้คำอธิบาย ไร้ที่มาที่ไป ไร้เหตุผลสิ้นดี แต่สามารถเผยแจ้งความจริงแก่เขา มากยิ่งกว่าถ้อยคำมีระเบียบเหล่านั้น
ไม่มีใครหนีถ้อยคำพ้น (กระทั่ง man of action ... หรือกระทั่งพวก mystic!) ถ้อยคำมักอยู่ก่อนและหลังประสบการณ์ดังกล่าวเสมอ: จะไม่มีประสบการณ์ภายในหากระเบียบแห่งถ้อยคำยังยึดครองตำแหน่งสูงสุดภายในตัวเรา หากไม่มีการชะงักงันซึ่งกิจกรรมทางความคิดต่างๆ ลงชั่วขณะ ... มันกลับมาอีกครั้ง เมื่อเราพยายามเอ่ยถึงมันอย่างตะกุกตะกักหลังจากนั้น
กระนั้นก็ยังมีถ้อยคำบางแบบ พยายามหยิบยืมสภาวะ “ไร้ความนึกคิด” จากบทกวีและเสียงดนตรี (ในสองอย่างหลังนี้ “ถ้อยคำ” ความหมาย และการใช้งานมัน ถือเป็นเพียงเรื่องรองๆ เท่านั้น ศิลปินกลุ่มหนึ่งจึงมองว่ามันบริสุทธิ์กว่า เหมาะสำหรับนำเสนอความคิดที่มีความ ethereal มากกว่าร้อยแก้ว; การเขียนของพวกเขาจึงคล้ายต่อต้านกิจกรรมการเขียนอยู่ในที เพราะมองว่า การเขียนโดยปกติมักเชื่อมั่นและอาศัยพลังอำนาจจากตัวมนุษย์ผู้กระทำการมากเกินไป มันจึงไร้รอยแต้มของ “บางสิ่งซึ่งข้ามพ้นตัวนักเขียน” ซึ่งมิได้มาจากความสามารถมนุษย์ล้วนๆ แต่มาจากความยินยอมพร้อมใจของสิ่งต่างๆ ด้วย)
แม้โดยปกติแล้ว ธรรมชาติของคำจะส่งผ่านและสื่อสารสิ่งอันคุ้นเคยต่างๆ มีหน้าตาคล้ายคลึงกับชีวิตประจำวันของผู้อ่านอยู่บ้างไม่มากก็น้อย (มันคือป้ายบอกทางกลับบ้าน, คือเศษขนมปังที่เราโรยทิ้งไว้ตามทาง) หากแต่ในทางที่ดูลึกลับกว่านั้น มันกลับสื่อสารบางสิ่งซึ่งมีความเป็นจริงลึกซึ้งกว่า (มันคือกระจกสะท้อนตัวตนลึกสุดแท้จริงของเรา ไปพร้อมๆ กับการเป็นเครื่องหมายบอกทางกลับสู่ตัวตนในยามปกติ, คือสิ่งที่ยึดโยงเราไว้กับโลกและปลดปล่อยเราจากมันในคราเดียวกัน)
“Guess, or I devour you” — มันมีโมงยามเมื่อสิ่งไร้ชีวิตต่างๆ เรียกร้องการตอบรับจากภายในของเรา การลงแรงทางความคิดทั้งหมดของเราพากันมารวมศูนย์อยู่ที่คำถามซึ่งความไพศาลของท้องฟ้า หรือเสียงหัวเราะของดอกไม้ เป็นผู้ถาม เมื่อนั้น เราอาจกรีดร้องถ้อยคำเดียวกับโบดแลร์ว่า: “ความงาม... ได้โปรดอย่าทรมานตัวข้าอีกเลย!” แต่ถ้อยละล่ำละลักนั่นก็อาจไม่ใช่เสียงจากตัวเราล้วนๆ
————————————

Friday, July 10, 2020

EPIGRAPH





The form of the body is more ‘essential’ to it than its substance.

ประกายจ้าสาดตาเราให้เลือนพร่าไปชั่วขณะ ประกายนั้นแสนสั้นจนเรามิทันได้เกี่ยวเก็บความประทับจิตประทับใจ มันก็วูบหายไปเสียแล้ว เมื่อเราเลื่อนสายตามายังร้อยแก้วที่เรียงพรืดอยู่เบื้องล่าง ทีแรกเราก็เข้าใจไปว่าไอ้ถ้อยความสั้นๆ พวกนั้นมันคงเข้าทำนองการเกริ่นนำอย่างรู้ๆ กันระหว่างเรานักอ่าน-ผู้เขียน, ขยิบตาให้อย่างพองามด้วยการยกบางท่อนบางความมาจากชิ้นงานหรือผู้กล่าวซึ่งมีนามเป็นอมตะอยู่แล้วไม่มากก็น้อย, หรือไม่เช่นนั้นก็คงเป็นการให้ชิมลาง เป็นตัวกำกับโทน คุมน้ำเสียง และวางธีมซึ่งจะปรากฏซ้ำๆ เหมือนเมโลดี้หลักในบทเพลงกระมัง?

The form of the body is more ‘essential’ to it than its substance.

ขึ้นชื่อว่า Epigraph ก็ใช่ว่านักเขียนจะสักแต่หยิบยกคำพูดใครๆ มากำกับงานเขียนตน: มันมีความสุ่มเสี่ยงอยู่ว่า ความหมายของมันอาจตกหล่นไปสู่ความไม่สลักสำคัญเมื่อผ่านตาหนแรก (นี่ขึ้นอยู่กับคนอ่านด้วย) บางทีก็เมื่ออ่านจนจบในส่วนหรือบทนั้นๆ เราจึงพอจะเข้าใจความสำคัญของตัว Epigraph ผู้ประดาประดับมันขึ้นมาบ้าง; Epigraph ที่ดี (ในความเห็นของเราวันนี้) จึงควรมีลักษณะสั้นหรือห้วนๆ ประมาณหนึ่ง เมื่ออ่านแล้วก็ยังคงความกำกวมหรือคลุมเครือบางอย่างไว้ ใจความอาจขาดๆ หรือหายๆ ไป แถมบางทีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้พูดเดิมนั้นมีจุดประสงค์อะไร...หรือพูดกับใครอยู่กันแน่? มันช่างผุดโผล่ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ และไม่มีขลุ่ยเอาเสียเลย ช่างน่าขบคิด เหมือนปริศนาอันน่าฉงนสนเท่ห์ (Enigma) ... เหมือนกับสฟิงซ์ (Sphinx) ...

แน่ละว่า Epigraph ที่มีความยืดความยาวเป็นย่อหน้าเลยนั้นก็มี (และให้ผลลัพธ์ลึกลับน่าดูชมไม่แพ้คำพูดภาษิตคลุมเครือพวกนั้น หรือบาทหนึ่งบาทใดที่ยกมาจากเชคสเปียร์ มิลตัน หรือไบรอน ฯลฯ) ทว่าศิลปะของ Epigraph ก็อยู่ตรงนี้นี่เอง: การใช้มัน (คำพูดและความคิดคนอื่น) เพื่อขยายความหมายในชิ้นงานของตนเอง หรือกระทั่งทำให้ความหมายคำพูดพวกนั้นแปรเปลี่ยนไปอย่างลึกซึ้ง ผิดจากเดิมโดยสิ้นเชิง

The form of the body is more ‘essential’ to it than its substance.

วันนี้เราจะไม่พูดถึงตัวอย่างอันโด่งดังของนวนิยาย Le Rouge et le Noir หรือ แดงกับดำ โดย Stendhal แต่จะลองพูดถึง Epigraph ซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องสั้น L’Inconnue หรือ หญิงไร้นาม อันได้แก่ภาษิตไร้เจ้าของอย่าง: “หงส์เงียบคอยชั่วชีวิตมันเพื่อขับขานเสียงไพเราะหนเดียว” และอีกอัน: “คือเด็กแสนพิสุทธิ์ ผู้เพียงวรรคหนึ่งที่สวยงามจากคำโคลงทำเอาหน้าถอดสี” มีผู้กล่าวคืออาเดรียน ฌูวิญญี่ (ผมขอสารภาพ ไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร)

เราจะพบระหว่างอ่านว่า ผู้แต่งทำให้ความหมายดั้งเดิมกำกวมขึ้นมาอย่างน่าตะลึงลานที่สุด จากโรแมนติกนิยมตราตรึงซึ้งซ่านในวิญญาณอยู่ดีๆ กลับกลายมาเป็นโรแมนติกขมกลืนอันสิ้นหวังเหมือนนั่งบนหลุมศพเสียนี่ ... Epigraph น่าฉงนฉงายสองอันนี้ทีแรกก็สร้างสมบรรยากาศบางอย่างขึ้นในหัวเราเสียก่อน เป็นประกายแวววับเหมือนพระอาทิตย์ต้องจับผืนทะเลสาบยามเย็น หากแต่ความหวังงดงามที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจผู้อ่าน (พร้อมๆ กับในตัวเอกหนุ่มสูงศักดิ์จากบ้านนอกของเรา) มันก็กลับพังทลายลงเมื่อพบว่า หญิงเลอโฉมแปลกหน้าที่เราตกหลุมรักนั้นมีโสตประสาทดับสนิท! แล้วนี่เธอรับฟังดนตรีเดียวกับเรามิใช่หรือไร เมื่อตอนหัวค่ำที่ผ่านมา? เราผู้ได้ยิน “เสียง” ของดินแดนที่เราจากมา ในแก้วเสียงของดาวโอเปร่าค้างฟ้าดวงนั้น? แต่ทุกอย่างผิดคาด เธอพิการหูหนวกก็จริง แต่กับ “เสียงสะท้อนก้องอัศจรรย์” ของวิญญาณ เสียงเหง่งหง่างกังวานในสุ้มเสียงคนรักนั้น เธอมีความสามารถเต็มเปี่ยมที่จะรับรู้ได้ยิน (อย่างน้อยเธอก็ว่าอย่างนั้น) บทเจรจา บทรัก บทบอกปัดที่เกิดขึ้นและจบลงในค่ำคืนเดียวนี้ ดำเนินไปโดยที่ฝ่ายหญิงมิได้ยินยลคำพูดฝ่ายชายเลยแม้แต่นิดเดียว อาศัยดูสีหน้าท่าทีอีกฝ่ายเท่านั้นเอง และสิ่งที่เธอบอกเล่าให้หนุ่มฟังก็น่าเหลือเชื่อไม่แพ้ความสามารถอ่านใจของเธอ

เมื่อถูกเด็กหนุ่มรบเร้าเข้าว่ายังไงก็จะสู้ฝ่าชะตากรรมเลวร้ายนี้ไปกับเธอให้จงได้ ถึงต้องครองรักร่วมกันในความเงียบชั่วนิรันดร์ก็ตามที เธอก็ถึงกับเอ่ยถ้อยคำที่ส่งสะเทือนกลับไปหา Epigraph แรกของเรื่อง ถ้อยคำซึ่งแม้แต่ Hoffmann ผู้เป็นนักเขียน-นักประพันธ์ดนตรีจอมโรแมนติก ฟังแล้วก็อาจละลายกลายเป็นแสงหรือเสียงไปโดยพลัน (หากเขามีโอกาสได้อยู่อ่าน) ถ้อยคำที่กวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างก่อนหน้านั้น ทั้งความรัก ความงดงาม และความสิ้นหวัง (รวมทั้งตัว Epigraph) ให้ลับหายไปกับมัน--สู่ตัวโน้ตที่ “ไม่มีใครได้ยิน” :

“วิญญาณพรรค์แต่ก่อน ไม่ซับซ้อนของเธอ คงต้องสำแดงออกด้วยชีวิตชีวาหนักแน่น จะให้แยกแยะเฉดอันหนักเบาต่างๆ แห่งอารมณ์ความรู้สึกเธอได้อย่างไร หากไม่สดับฟังในสุ้มเสียงดนตรีของวจีที่เธอเอ่ย? ฉันเองย่อมรู้ดี มิต้องสงสัย ว่าเธอนั้นซ่านและเปี่ยมไปด้วยจินตภาพของฉัน ทว่า รูปแบบใดกันที่เธอนึกสร้างให้แก่ฉันในความคิด เค้าร่างของฉัน เธอวาดมันออกมาแบบไหน ภาพฝันเหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดออกมาในคำพูดไม่กี่คำที่คนรักเลือกกล่าวในแต่ละวันเท่านั้น—เงารูปที่ไร้เส้นสายแจ่มชัดดังกล่าว ซึ่งพร่าเลือนอยู่ด้วยเหล่าวจนะเลอฟ้าเองนี้ ก็มักจะละลาย สลายลับสู่ดวงแสง ก่อนจะผ่านหายไปยังห้วงไพศาลที่เราแต่ละคนต่างมีกันในหัวใจ—ความเป็นจริงสูงสุดเพียงหนึ่งนี้ สารัตถะอันเดียวนี้ คือบางสิ่งที่ฉันไม่มีทางได้ล่วงรู้! ไม่! แค่คิดว่าตนถูกสาปให้ไม่มีวันได้ฟังเสียงเพลงเกินจะหาคำใดเปรียบเหล่านั้น แฝงเร้นอยู่ในน้ำเสียงของคนรัก ทำนองแผ่วร่ำที่ฮึมฮัมไปด้วยโทนสูงต่ำน่าทึ่ง โอบล้อมรอบกายผู้เป็นที่รัก และถอดสีสันให้เหือดหายจากใบหน้าเธอ! โอ เขาผู้จารึกบนหน้ากระดาษแรกของซิมโฟนีแสนวิเศษชิ้นนั้น: ‘คือวิถีที่ชะตามาเคาะหน้าประตู’ เขายังเคยรู้จักเสียงของเครื่องดนตรีมาก่อนประสบชะตาเดียวกับฉัน”*

“เขาจดจำมันได้ขณะที่ประพันธ์! แต่จะให้ฉันจำเสียงเธอได้อย่างไรกันเล่า เสียงที่เพิ่งจะเอ่ยกับฉันเป็นหนแรกว่า ‘ฉันรักเธอ’ . . . ?” 

แล้วก็:

“จะให้ลืมถ้อยคำที่ตนเดาออกแต่ไม่ได้ยินน่ะหรือ?”

The form of the body is more ‘essential’ to it than its substance...

ตอนนี้ผมกำลังอยู่ระหว่างแปล Véra อันเป็นเรื่องสั้นชิ้นเอกอีกเรื่องของผู้แต่ง หญิงไร้นาม และไอ้เจ้า Epigraph บรรทัดข้างบนนี้ก็ยังส่งเสียงซ้ำๆ คลอกับเธอผู้เป็นใจความของเรื่อง... เหมือนปริศนาอันน่าฉงนสนเท่ห์ ... เหมือนกับสฟิงซ์ ...

The form of the body is more ‘essential’ to it than its substance…

__________________________________________________

* เธอหมายถึง เบโธเฟน ผู้หูหนวก



Saturday, June 27, 2020

ฉากเดือนธันวาฯ - Paul Claudel


ฉากเดือนธันวาฯ
(ดัดแปลงจาก Décembre ของ ปอล โกลแดล)

ขณะกวาดมือล่องหนของท่านไปตามดงแดนและหุบเขารกครึ้ม จรดผืนสีน้ำตาลหม่นม่วงซึ่งสายตาท่านหยุดพัก ฉับพลันมือนั้นก็วางแน่นิ่งบนผืนทอลวดลายปักแห่งนี้ ทุกอย่างที่นี่ถูกห่มในความเงียบสนิท; ไม่มีสีเขียวบาดสายตา ไม่มีความเยาว์วัยใดๆ ตัดกับความสงบของฉาก หรือทำลายความสอดประสานของโทนทำนองอันเต็มเปี่ยมแต่ว่างโหวงเหล่านี้ ท้องฟ้ามีเมฆครึ้มปกคลุม ทุกรอยแตกของภูเขาก็เต็มไปด้วยเมฆหมอกสีเทาๆ เหมือนมีคนประกบขอบฟ้ากับแผ่นเมฆเข้าด้วยกัน; ด้วยฝ่ามือของท่าน—โอ เดือนธันวาฯ—ใช้มันลูบจับเครื่องประดับยักษ์พวกนี้... พุ่มของต้นสนดำ เหมือนเข็มกลัดวางทาบบนไฮยาซินธ์ของท้องทุ่ง; และด้วยนิ้วเรียวของท่าน ใช้มันยืนยันรายละเอียดต่างๆ ที่มืดมัวพัวพันอยู่ในวันหน้าหนาวพวกนี้... โน่นทิวไม้ นั่นหมู่บ้าน; โมงยามหยุดนิ่งแล้วอย่างมิต้องสงสัย; เหมือนโรงมหรสพเงียบร้างที่มีแต่ความเศร้าสร้อย ทิวทัศน์โดดเดี่ยวคล้ายเฝ้าคอยเสียงๆ หนึ่งซึ่งมีตัวมันเท่านั้นได้ยิน
ยามบ่ายในเดือนธันวาฯ ช่างน่าอภิรมย์: ยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงวันโหดร้ายข้างหน้า และวันแสนหวานที่ผ่านมาก็ยังพอหลงเหลือดอกไม้ให้ชื่นชม จากทุ่งหญ้าและผลผลิตมากมาย มาบัดนี้ มีเพียงกองฟางที่กระจัดกระจายและพุ่มแห้งๆ... น้ำเย็นๆ ถูกสาดลงบนพื้นดินหว่านไถ เป็นนัยว่าทุกอย่างได้จบสิ้น ยามนี้คือเวลาหยุดพัก คือกาลชะงักงัน ณ รอยต่อของปี; ในห้วงเวลาแบบนี้ ความคิดผู้เป็นอิสระจากงานการ จะเก็บเกี่ยวก็เพียงสิ่งต่างๆ จากความทรงจำของเธอ นั่งฝันอย่างสงบเสงี่ยม และอาจใคร่ครวญถึงสิ่งใหม่ๆ ในภายภาคหน้า... เช่นเดียวกับโลก—ผู้เป็นพี่สาวเธอ—ความคิดร่วมฉลองในวันซับบาธ

—————————————————————

Paul Claudel เป็นกวี-นักการฑูต ผู้พำนักอาศัยอยู่ในแดนตะวันออกของจีนและญี่ปุ่นตลอดช่วงสิ้นศตวรรษที่ 19


ภาพ Lyricism in the Forest
ของ Alphonse Osbert

(บทกวีแปล) Théophile Gautier - LA NUE



มือวิเศษพรรค์ใดแกล้งเสกสรรค์
แกะวิมานจากมวลเมฆที่ลอยหลง
สลักภาพนางฟ้าอย่างบรรจง
หนึ่งอนงค์สดใสแห่งสายธาร

หรือเป็นนางธิดามหาสมุทร
ผู้ลอยผุดจากฟองพรายคล้ายดั่งฝัน
อโฟรไดท์แห่งอากาศแลธาตุควัน
อวตารอันหลุดคล้อยลอยตามลม—

ยลรูปกายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
เหมือนผิวน้ำอ้อยอิ่งกระเพื่อมไหว
โน่นอรุณรุ่งแล้วมาแต่ไกล
แต้มกุหลาบบนเลื่อมพรายของไหล่เธอ

หิมะขาวคละเคล้าปนหินอ่อน
แสงเงาแจ่มสะท้อนช่วยขับเสริม
เน้นร่างขาวที่เหยียดแผ่และหลับเพลิน
ดูเผินๆ ก็เหมือนแอนทิโอปี*

เธอลอยเด่นบนฟ้าอันกระจ่าง
ทิพย์วิมานของนางผู้ทรงอิตถี
ความงามซึ่งเก่าแก่กว่าปฐพี
“อุดมคติ” แห่งกวีนิรันดร

ฝากจุมพิตติดปีกเสน่หา
เพียงหวังคว้าร่างเมฆาในห้วงหน
ตกหลุมพรางดั่งคนโฉดอิกซิออน
อนิจจา! ร่างหล่อนจางหายไป

เหตุผลเรียกสิ่งนั้นแค่ควันหมอก;
คิดไปเองเท่านั้นหรอก ฝันสลาย
หลงละเมอในลวงเพ้ออันงมงาย
หารู้ไม่ ภาพสะท้อนของจิตตน—

ความรู้สึกตอบว่า “ช่างปะไร!
ฉลากไวน์ยี่ห้อใด ใครสน
ขอเพียงดื่มแล้วย้อมหัวใจคน
จะเวทย์มนตร์กลใดไม่สำคัญ

ให้ความงามส่องตัวมันในกระจก
ข้างในอกที่สะท้อนสรวงสวรรค์
แม้ว่างเปล่าเพียงเมฆขาว หมอกควัน
ให้รักนั้นรังสรรค์อัศจรรย์ใจ”


—————————————

ดัดแปลงจาก La Nue ของ เตโอฟิล โกติเอร์ (Théophile Gautier)
ธีรัช หวังวิศาล ถอดความ

(ตีพิมพ์ในรวมบทกวีเล่มสำคัญ Émauxs et Camées หรือ Enamels and Cameos)

* หมายถึง แอนทิโอปี (Antiope) ผู้หลับใหลในภาพเขียนของ Correggio 
อิกซิออน (Ixion) ในตำนานนั้น สมสู่กับเมฆ โดยหลงคิดไปว่าเมฆคือเทวีเฮรา ชายาซุส (Zeus)
ถึงแม้โกติเอร์จะใช้ศัพท์แสงเชิงจิตรกรรมอย่าง chiaroscuro ซึ่งเป็นการขับเน้นแสงเงา และอ้างอิงถึงภาพเขียน-เทวตำนานสำคัญต่างๆ แต่อัจฉริยภาพของกวีผู้นี้มิได้จบลงที่การวาดภาพสิ่งต่างๆ ด้วยถ้อยคำเท่านั้น; La Nue บทนี้ จึงอาจเป็นบทกวีว่าด้วยการต้องมนต์และคลายมนต์ (Enchantment and Disenchantment)
ภาพวิมานเกินเอื้อมไม่มีที่ในโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นเหตุผลและเป็นฆราวาสอย่างถึงที่สุด ผู้อ่าน (และกวี) จึงเผชิญกับทางเลือก ระหว่างการยอมรับว่า ตนนั้นตกเป็นเหยื่อจินตนาการฝันเพ้อของตัวเอง กับการเชื่อมั่นศรัทธาในบางสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมากไปกว่าควัน
ทางเลือก “สูงส่ง” อันหลังนั้น “ความรู้สึก” เป็นผู้นำเสนอ แย้งกับทางเลือกแรกของเหตุผล (ซึ่งปฏิเสธภาพลวง และการร่ายมนต์ใดๆ ทั้งสิ้น) หากอนิจจา คงมีเพียงกวีหรือศิลปินเท่านั้น ที่จะเลือกทางนี้
ผู้แปลหยิบยืมความคิดบางอย่างจากนวนิยาย “อีฟแห่งเอเดนใหม่” (1886) ของ Villiers de l’Isle-Adam ซึ่งมีสปิริตใกล้เคียงกัน เพื่อการถ่ายทอดใจความเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ ลึกซึ้ง ตรงตามสปิริตเดิมมากกว่าตรงตามตัวอักษร (โดยเฉพาะในท่อนที่พูดถึงฉลากไวน์และน้ำเมา)


Monday, April 27, 2020

(บทกวีแปล) La Mélinite: Moulin Rouge ของ Arthur Symons





กลีบของวอลซ์กุหลาบ
ในท่วงทำนองสม่ำเสมอ
หล่นพรำและแตกกระเจิง;
ทั้งห้องกลายเป็นกุหลาบ
ในละอองของกลีบเพลิง

ทุกคนวนกลับมา
ขยับตามจังหวะเป็นวงกลม
กุหลาบแห่งแสงไฟและเสียงเริงรมย์
กุหลาบหมุนกลับมา
สู่จังหวะเต้นรำเป็นวงกลม

ลำพังนางระบำ
ยลร่างสง่าเคลื่อนไหว
สะท้อนดำมืดในกระจก;
เธอมองตัวเองร่ายรำ
ต่อหน้าเงาร่างกำกวมในกระจก

กระจกฉายภาพเงาเต้น
เธอเองเต้นรำอยู่ในฝัน
ทั้งเธอและเหล่านักเต้น
ล้วนเต้นรำในเงาฝัน

แสงขยับวูบวาบ
ต้องเปลวใส่อาภรณ์เพลิง
นักเต้นเงาพากันขยับ
ในดอกเปลวสีเพลิง

พลันผุดรอยยิ้ม
ลึกลับในค่ำคืนปริศนา
จากเธอผู้ไม่เต้นให้ใครอื่น
เพียงเงาหนึ่งยิ้มตอบ
อีกเงาโดดเดี่ยวในค่ำคืน

——————————

ดัดแปลงจาก La Mélinite: Moulin Rouge ของ Arthur Symons
โดย ธีรัช หวังวิศาล
Arthur Symons เป็นกวีชาวอังกฤษผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงสิ้นศตวรรษที่สิบเก้า ใกล้เคียง-ไล่เลี่ยมากับกวีสัญชาติอเมริกันอย่าง Stuart Merrill โดยทั้งสองต่างบุกเบิกนำอิทธิพลของบทกวี ความคิด สุนทรียะ และวรรณกรรมฝรั่งเศสกลุ่ม Symbolist และ Decadent เข้ามาสู่ประเทศตน: Merrill ผ่านทางวรรณมาลัย (anthology) รวมงานบทกวีร้อยแก้ว (prose poem) แปลจากฝรั่งเศส ชื่อว่า Pastels in Prose (1890); Symons ผ่านหนังสือความเรียงเล่มสำคัญอย่าง The Symbolist Movement in Literature (1899) นอกจากนี้ทั้งคู่ยังแต่งบทกวีที่น่าสนใจเอาไว้จำนวนหนึ่ง
(ภาพประกอบจากภาพเขียนของ Surrealist อย่าง Paul Delvaux ก็จริง; แต่หากผู้อ่านอ่านแล้วหวนนึกถึง Hérodiade ของ Mallarmé อาจลองจินตนาการว่ามี The Sphinx ของ Franz von Stuck เป็นภาพประกอบก็ได้ . . .)

Sunday, March 29, 2020

Hölderlin: สนธยาเพ้อ



Evening Fantasy (Abendphantasie)

อภิรมย์ใต้เงาร่มหน้ากระท่อม
ที่นั่งจ่อมคือชาวนาหน้าเตาผิง
ระฆังค่ำเคาะดังให้ได้ยิน
ต้อนรับคนแปลกถิ่นผู้แรมรอน   

กะลาสียามนี้ก็เทียบท่า
เสียงตลาดเริ่มซาในเมืองโพ้น
ในซุ้มเขียวจานสำรับเงียบรอคน
แต่ตัวข้าจะไปยังแห่งหนใด?

ปุถุชนทำงานแลกค่าจ้าง
เวลาว่างก็พักผ่อนเป็นสุขี
หัวใจข้าเท่านั้นฤาเป็นเช่นนี้     
มิยอมที่จะหยุดยอกให้ผ่อนคลาย?

วสันต์แรกแตกดอกออกเต็มฟ้า
สนธยาละลานตาหมู่ดอกไม้
กุหลาบบานเหลือจะนับบนฟ้าไกล
โลกทั้งใบส่องสงบเป็นสีทอง

โอ้เมฆเอ๋ย หมู่เมฆสีแดงสด 
ท่านได้โปรดพาตัวข้าไปบนนั้น
ให้รักข้าโศกข้าละลายพลัน
กลายเป็นควัน บรรยากาศ หรือแสงไป!—

ประหนึ่งว่าคำวิงวอนที่โง่เขลา
ได้ปัดเป่าไล่มนตราให้หนีหาย
ฟ้ากลับมืดเหลือตัวข้าอยู่เดียวดาย
ยืนเปลี่ยวใต้ท้องสวรรค์เหมือนดั่งเคย

จงมาเถิด! นิทราผู้แสนหวาน
อย่ากระสันฝันให้มากนักใจเอ๋ย
ไฟแห่งเยาว์จักมอดดับและผ่านเลย
ทิ้งให้ข้าได้ชื่นเชยความพึงใจ

(ดัดแปลงโดย ธีรัช หวังวิศาล)



(ภาพเขียนของ Serusier ซึ่งน่าจะวาดที่ Pont-Aven ตามคำแนะนำของโกแกง)

Saturday, March 21, 2020

Éphraïm Mikhaël : Le Sillage






The Wake

บนผืนเขียวดั่งยัสเปอร์ของทะเลสาบ สำเภาไม้มะเกลือผู้มีใบเรือดำขยับล่องไร้พาย แหวกร่องยาวเป็นริ้วพรายสายหิมะ เธอแล่นเชื่องช้าไปยังฟ้าทางทิศตะวันตก ช้าจนแทบมิอาจได้ยินปีกใบเศร้าๆ ของหล่อนกระพือไหว แต่ถึงสนธยาจะเฉื่อยเนือย ราบเรียบปานใด ตัวฉันขณะนี้ก็ยังจับสดับรับเสียงแบบเบาอันมิได้เกิดจากสสาร มันคือเสียงครวญที่วิญญาณของนางสำเภาทอดถอน

วิญญาณสำเภาส่งสำเนียงครวญเครือ และในเสียงหายใจถอนอันแปลกประหลาดนั้น วิญญาณฉันมองออกซึ่งความเบื่อระอากับความเหน็ดหน่าย เฉกเช่นที่ฆานประสาทจำแนกแยกสองกลิ่นที่สะปะสะปนกันได้ ด้วยว่าสำเภาให้แสนหน่ายจะต้องทนเห็นริ้วทางสีผ้าตราสังติดสอยห้อยตามนางอยู่ร่ำไป เธอเต็มใจจะแล่นหนีมัน เต็มใจจะได้หยุดพักทางฟากกระโน้น ใกล้พระราชวังมายาสีทองแดงซึ่งอาบแสงอาทิตย์ลับฟ้า; หรือไม่อย่างนั้นก็หยุดแน่นิ่งไปเสีย ให้มีผืนราบทำจากหินอ่อนสีเขียวของทะเลสาบแผ่รายรอบ

ทว่าลมผู้ทรราชกลับพัดพองใบเรือไม่หยุดหย่อน; และก็ด้วยลำตัวหนักๆ ของนาง จึงเป็นสำเภาเองผู้แหวกเปิดร่องขาวอันทำใจเธอให้หมองเศร้าและหน่ายเพลีย

แล้วเสียงอันช่างเร้นลับ ดังมาจากส่วนลึกเสียจนตัวฉันเองก็บอกไม่ได้ว่ามันมาจากสำเภาหรือภายในวิญญาณฉัน พลันก็เอ่ยกระซิบพร่ำในอากาศสีดอกไวโอเล็ตแห่งยามเย็น: “โอ หากไม่ต้องเห็นมันตรงท้ายฉันอีก—บนทะเลสาบแห่งนิรันดร—รอยเส้นไม่หยุดหย่อนของเจ้ากาลเวลา” 

——————————————

บทกวีร้อยแก้ว (prose poem) ของ Éphraïm Mikhaël (นามปากกาของ ฌอร์ฌส์ มีแชล)
เขียนเมื่อปี 1885

ธีรัช หวังวิศาล ถอดความ


ภาพจาก "ช่วงพาสเทล" ของ Odilon Redon